วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

หน่วยที่ 6 อินเทอร์เน็ท

ประวัติอินเทอร์เน็ท
อินเทอร์เน็ต (อังกฤษ: Internet) หมายถึง เครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ที่มีการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายหลายๆ เครือข่ายทั่วโลก โดยใช้ภาษาที่ใช้สื่อสารกันระหว่างคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า โพรโทคอล (Protocol) ผู้ใช้เครือข่ายนี้สามารถสื่อสารถึงกันได้ในหลายๆ ทาง อาทิเช่น อีเมล เว็บบอร์ด และสามารถสืบค้นข้อมูลและข่าวสารต่างๆ รวมทั้งคัดลอกแฟ้มข้อมูลและโปรแกรมมาใช้ได้
ที่มา
อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) จากการเกิดเครือข่าย ARPANET (Advanced Research Projects Agency NETwork) ซึ่งเป็นเครือข่ายสำนักงานโครงการวิจัยชั้นสูงของกระทรวงกลาโหม ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์หลักของการสร้างเครือข่ายคือ เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมต่อ และมีปฏิสัมพันธ์กันได้ เครือข่าย ARPANET ถือเป็นเครือข่ายเริ่มแรก ซึ่งต่อมาได้ถูกพัฒนาให้เป็นเครือข่าย อินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน

การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

การประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันทำได้หลากหลาย อาทิเช่น ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีเมล์ (e-Mail) , สนทนา (Chat), อ่านหรือแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ด, การติดตามข่าวสาร, การสืบค้นข้อมูล / การค้นหาข้อมูล, การชม หรือซื้อสินค้าออนไลน์ , การดาวโหลด เกม เพลง ไฟล์ข้อมูล ฯลฯ, การติดตามข้อมูล ภาพยนตร์ รายการบันเทิงต่างๆ ออนไลน์, การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ออนไลน์, การเรียนรู้ออนไลน์ (e-Learning), การประชุมทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต (Video Conference), โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต (VoIP), การอับโหลดข้อมูล หรือ อื่นๆ
แนวโน้มล่าสุดของการใช้อินเทอร์เน็ตคือการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์เพื่อสร้างเครือข่ายสังคม ซึ่งพบว่าปัจจุบันเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังกล่าวกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไฮไฟฟ์ และการใช้เริ่มมีการแพร่ขยายเข้าไปสู่การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Internet) มากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันสนับสนุนให้การเข้าถึงเครือข่ายผ่านโทรศัพท์มือถือทำได้ง่ายขึ้นมาก
ปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกโดยประมาณ 2.095 พันล้านคน หรือ 30.2 % ของประชากรทั่วโลก (ข้อมูล ณ เดือน มีนาคม 2554) โดยเมื่อเปรียบเทียบในทวีปต่างๆ พบว่าทวีปที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ เอเชีย โดยคิดเป็น 44.0 % ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด และประเทศที่มีประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือประเทศจีน คิดเป็นจำนวน 384 ล้านคน
หากเปรียบเทียบจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกับจำนวนประชากรรวม พบว่าทวีปอเมริกาเหนือมีสัดส่วนผู้ใช้ต่อประชากรสูงที่สุดคือ 78.3 % รองลงมาได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย 60.1 % และ ทวีปยุโรป คิดเป็น 58.3 % ตามลำดับ
อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยการเชื่อมต่อมินิคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ไปยังมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย แต่ในครั้งนั้นยังเป็นการ เชื่อมต่อโดยผ่านสายโทรศัพท์ ซึ่งสามารถส่งข้อมูลได้ช้าและไม่เป็นการถาวร จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2535 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้ทำการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(NECTEC), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าด้วยกันเรียกว่า "เครือข่ายไทยสาร"
การให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยได้เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ เดือน มีนาคม พ.ศ. 2538 โดยความร่วมมือของรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง คือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยให้บริการในนาม บริษัท อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย (Internet Thailand) เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์รายแรกของประเทศไทย [1]

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ ปี 2534 (30คน) ปี 2535 (200 คน) ปี 2536 (8,000 คน) ปี 2537 (23,000 คน) ... ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2551 จากจำนวนประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปประมาณ 59.97 ล้านคน พบว่า มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 16.99 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 28.2 และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 10.96 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.2 [2]

อินเทอร์เน็ตแบนด์วิท

ปัจจุบัน (มกราคม 2553) ประเทศไทยมีความกว้างช่องสัญญาณ (Internet Bandwidth) ภายในประเทศ 110 Gbps และระหว่างประเทศ 110 Gbps
ประวัติอินเทอร์เน็ท
ความคิดเรื่องเครือข่ายคอมพิวเตอร์เครือข่ายเดียวที่สามารถให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ต่างระบบกันสามารถสื่อสารกันได้นั้นได้มีการพัฒนาผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอนด้วยกัน การหลอมรวมกันของการพัฒนาเหล่านั้นได้นำไปสู่เครือข่ายของเครือข่ายทั้งหลายที่รู้จักกันในชื่อว่า อินเทอร์เน็ต การพัฒนาเหล่านั้นมีทั้งในแง่การพัฒนาเทคโนโลยี และการรวมโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายและระบบโทรคมนาคมที่มีอยู่เดิมเข้าด้วยกัน
ความคิดเรื่องนี้ในครั้งแรก ๆ ปรากฏขึ้นในปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 หากแต่การนำแนวคิดเหล่านี้ไปปฏิบัติได้จริงนั้นเริ่มขึ้นในปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 เมื่อถึงคริสต์ทศวรรษ 1980 เทคโนโลยีซึ่งนับได้ว่าเป็นพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตสมัยใหม่นั้นได้เริ่มแพร่หลายออกไปทั่วโลก ในคริสต์ทศวรรษ 1990 การมาถึงของเวิลด์ไวด์เว็บได้ทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่ว
ในคริสต์ทศวรรษ 1950 ถึง 1960 ก่อนการแพร่หลายของการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายจนเป็นอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน เครือข่ายการสื่อสารส่วนมากยังคงมีข้อจำกัดเนื่องด้วยธรรมชาติของตัวเครือข่ายเอง ซึ่งทำให้การสื่อสารสามารถกระทำได้ระหว่างสถานีในเครือข่ายเดียวกันเท่านั้น ข่ายงานบางแห่งมีเกตเวย์หรือบริดจ์ต่อระหว่างกัน หากแต่เกตเวย์หรือบริดจ์เหล่านั้นยังมีข้อจำกัดหรือมิฉะนั้นก็สร้างขึ้นเพื่อใช้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น วิธีเชื่อมต่อเครือข่ายที่ใช้กันในขณะนั้นวิธีหนึ่งมีพื้นฐานจากวิธีที่ใช้กับคอมพิวเตอร์เมนเฟรม ซึ่งคือการยินยอมให้เครื่องปลายทาง (เทอร์มินัล) ที่อยู่ห่างไกลออกไปสามารถติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ผ่านทางสายเช่า วิธีนี้ใช้กันในคริสต์ทศวรรษ 1950 โดยโครงการแรนด์ เพื่อสนับสนุนการติดต่อกันระหว่างนักวิจัยที่อยู่ห่างไกลกัน ตัวอย่างเช่น เฮอร์เบิร์ต ไซมอน ในเมืองพิตต์สเบิร์ก มลรัฐเพนน์ซิลเวเนีย สามารถดำเนินงานวิจัยในเรื่องการพิสูจน์ทฤษฎีอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับเหล่านักวิจัยซึ่งอยู่อีกฝั่งของทวีปในเมืองแซนทามอนิกา มลรัฐแคลิฟอร์เนียได้ ผ่านทางเครื่องปลายทางและสายเช่า

[แก้] เครื่องปลายทางสามเครื่องและอาร์พา

เจ.ซี.อาร์. ลิกไลเดอร์ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกในการเรียกร้องการพัฒนาเครือข่ายระดับโลกคนหนึ่ง ได้เสนอความคิดของเขาไว้ในบทความวิชาการชื่อ "Man-Computer Symbiosis" ตีพิมพ์เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1960 ดังนี้
"A network of such [computers], connected to one another by wide-band communication lines" which provided "the functions of present-day libraries together with anticipated advances in information storage and retrieval and [other] symbiotic functions. " —เจ.ซี.อาร์. ลิกไลเดอร์[1]
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1962 ลิกไลเดอร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสำนักงานประมวลผลข้อมูลของอาร์พา หน่วยงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา และได้ตั้งกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการภายในดาร์พาขึ้นกลุ่มหนึ่งเพื่อวิจัยทางคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ ได้มีการติดตั้งเครื่องปลายทางขึ้นสามเครื่อง เครื่องหนึ่งติดตั้งที่ซิสเต็มดีเวลอปเมนต์คอร์เปอเรชัน ในเมืองแซนทามอนิกา อีกเครื่องหนึ่งสำหรับโครงการจีนีในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และอีกเครื่องหนึ่งสำหรับโครงการชอปปิงซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการมัลทิกส์ ในสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ทั้งสามเครื่องนี้มีฐานะเป็นส่วนหนึ่งในบทบาทของสำนักประมวลผลข้อมูลฯ ความต้องการวิธีเชื่อมต่อกันระหว่างเครือข่ายของลิกไลเดอร์จะเห็นได้เป็นรูปธรรมจากปัญหาทางเทคนิคของโครงการนี้
"For each of these three terminals, I had three different sets of user commands. So if I was talking online with someone at S.D.C. and I wanted to talk to someone I knew at Berkeley or M.I.T. about this, I had to get up from the S.D.C. terminal, go over and log into the other terminal and get in touch with them.
"I said,it's obvious what to do (But I don't want to do it) : If you have these three terminals, there ought to be one terminal that goes anywhere you want to go where you have interactive computing. That idea is the ARPAnet." —รอเบิร์ต ดับเบิลยู. เทเลอร์ ผู้ประพันธ์ "The Computer as a Communications Device" ร่วมกับลิกไลเดอร์ กล่าวในการสัมภาษณ์โดยหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์[2]